ซักนิดกับการทำงานครบรอบ 10 ปี …

สมัยเด็กๆ เรามีเป้าหมายง่ายๆ คือตั้งใจเรียน … แป๊บๆเดียวก็ปิดเทอมแล้ว เดี๋ยวก็ขึ้นชั้นใหม่ แก่ขึ้นทีละนิด แต่เป้าหมายก็ปิดเทอมเหมือนเดิม สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็คือ สอบเข้ารร. สอบเข้ามหาวิทยาลัย … สอบโปรเจค

 

แล้วพอเรียนจบล่ะ  … มันไม่มีแล้วนะ ปิดเทอมน่ะ อย่างเก่งวันหยุดยาว ที่นานน๊านนนจะมีซักที หรือไม่ก็ต้องลาพักร้อน ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย .. (แต่เชื่อมั๊ยว่าบ้านเรานี่อยู่ในกลุ่มที่มีวันหยุดราชการเยอะกว่าประเทศอื่นๆพอสมควรเลย)

 

แต่ 10 ปีผ่านไป เราก็อยู่ได้โดยไม่มีปิดเทอม มีความสุขดีกับการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่คนในยุคใหม่พยายามหลีกหนี … เรายังตื่นเช้ามามีพลังลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวมาทำงาน มีบ้างที่เหนื่อยๆ แต่วูบนึงผ่านไปก็ดีขึ้น ไม่ได้มีอะไรคาใจ ทยอยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งด้วยตัวเอง และจากคนอื่นๆ … มีสิ่งที่เรายังไม่รู้มากมายเหลือเกิน … บางครั้งรู้สึกว่าเราโชคดี ที่ได้เรียน ได้ทำงานในสายงานที่ชอบ ได้เห็นว่าผลงานของเราทำให้ชีวิตคนอื่นง่านขึ้น ได้แก้ปัญหาที่ผู้คนพบเจอแต่ละวัน … ส่วนปัญหาที่สร้างเราจะละไว้ ไม่พูดถึงนะ

 

ทั้งหมดทั้งปวงที่เกริ่นมา เพื่อจะจดบันทึกสิ่งที่คิดว่าตกผลึกจากการทำงานมาของตัวเอง จะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกทั้งหมดซักทีเดียว ยังไงก็ร่วมแชร์ความเห็นกันได้ อีกสิบปีกลับมาอ่านจะได้รู้ว่าเราเติบโตไปมากน้อยแค่ไหน ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ถูกรึเปล่า …

  • จุดเริ่มต้น …. ส่วนตัวคิดว่าที่ทำงานที่แรกค่อนข้างเป็นตัวกำหนด character ของเราเลยทีเดียว(โดยเฉพาะในสายงานนี้) ทั้งในแง่ของพฤติกรรม และสายงานย่อย การที่นักศึกษาจบมาใหม่ๆ (เมื่อ 10 ปีก่อน) บางทีเราก็ไม่ได้รู้ว่าอีกสิบปีถัดมาเราจะนั่งทำอะไรอยู่ … เราอาจจะเลือกลักษณะงาน Developer, Tester, System admin, Network … แต่ในทางปฏิบัติมันยิบย่อยกว่านั้น เช่น
    • Technology specific เช่น C#, Java, Python เดี๋ยวนี้ก็ Framework specific Angular, React เทือกๆนั้น
    • Brand specific เช่น IBM, Microsoft, Oracle, Cisco, SonicWall, SAP
    • Business specific เช่น ฺBanking, Insurance, Energy, Digital Marketing, Food, Manufacturing

พอผ่านไปซักสามปี เราก็เริ่มรู้ตัวมากขึ้นว่าเรามาอยู่สายนี้ได้ยังไง โดยบังเอิญหรือโดยตั้งใจ และประสบการณ์เราจะมีค่ามากขึ้นเมื่อเรามี “สิ่ง” ที่เราถนัดโดยเฉพาะในทุกๆด้าน อย่างส่วนตัวตอนนี้ที่ถนัดคือ Banking & Finance ใน Eco system ของ Microsoft (แต่ตอนนี้ดันอยู่บ. Health care 555)

ในแง่ของพฤติกรรม งานแรกเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะโตขึ้นเป็นแบบไหน เราเริ่มงานโดยมีพี่ๆสอนทุกอย่างตั้งแต่ต้น หรือเราเริ่มงานแบบปากกัดตีนถีบตั้งแต่แรก … ซึ่งจะเป็นแนวทางต่อมาว่าเราจะดูแลน้องๆอย่างไรเมื่อเราเติบโดขึ้น การที่เราได้รับการดูแลสอนงานที่ดีก็จะทำให้เราอยากถ่ายทอดให้น้องๆได้รับสิ่งเดียวกัน หรือหลายๆครั้งพบเจอได้ว่า เราไม่ได้รับการดูแลที่ดี เมื่อเราเป็นพี่เราเลยไม่อยากให้น้องๆรู้สึกแบบนั้นอีก (เห็นมั๊ยว่า สิ่งแวดล้อมครึ่งนึง ตัวเราครึ่งนึง) แต่ส่วนตัวยังโชคดีที่ถือว่าได้อยู่ที่ดีๆตั้งแต่แรก ได้เติบโตขึ้นเยอะมากในสามสี่ปีแรก

  • ความขัดแย้ง… จริงๆอาจจะฟังดูรุนแรงไป จริงๆก็คือเวลาทำงานโดยปกติทั่วไปมันก็ต้องเกิดการที่มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ความขัดแย้งมักจะเกิดจากการหาข้อสรุปไม่ได้โดยง่าย จากตำแหน่งที่แต่ละคนยืนอยู่ จากประสบการณ์อันน้อยนิด … มันมีอยู่ทุกที่แหล่ะ แต่ก็อีกเช่นกัน ถ้าเราไม่คิดอะไรเลย ทำตามคำบอกไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่เจอการที่คิดเห็นไม่ตรงกันนั่นเอง … ความขัดแย้งส่วนใหญ่จะเกิดจากสองด้านใหญ่ๆ
    • งาน … หลายๆครั้งการที่ทำงานร่วมกันไม่ราบรื่นเป็นเพราะเป้าหมายในการทำงานของคนสองคน(หรือมากกว่านั้น) ไม่ตรงกัน ..

บางครั้งเป้าหมายของคนนึงคือการทำงานไปวันๆเรื่อยชิลๆ ในขณะที่อีกคนพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และก็คาดหวังให้คนอื่นเป็นแบบเดียวกัน … แบบนี้ไม่นานก็ขัดแย้ง

บางครั้งเป้าหมายของคนนึงคือการทำตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้สบายที่สุด แต่ในขณะที่อีกคนพยายามให้ผู้ใช้ปรับตัวไปสู่สิ่งที่ได้ออกแบบไว้ เพื่อจะได้พัฒนาง่ายขึ้นในอนาคต

บางครั้งเป้าหมายถึงคนนึงคือการทำให้ดีที่สุด ในขณะที่อีกคนพยายามทำให้มากที่สุด

พูดง่ายๆคือไปถึงจุดจุดนึง การทำงานมันไม่มีความถูกผิดชัดเจน มันเป็นการพยายามทำงานในแบบของตัวเอง หลายๆองค์กรจึงมีการคัดคนเข้าทำงานตามความเข้ากันได้ของทีมงาน เพราะการทำงานต่างกันแบบสุดขั้วอาจจะทำมาซึ่งความขัดแย้งที่ไม่ได้มีใครถูกผิดอย่างชัดเจน แค่มองจากคนละมุมแค่นั้น

ถ้าเราเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ ทำให้มันเป็นเรื่องงาน ตัดสินใจตามตำแหน่งและหน้าที่อย่างมีเหตุผล อย่าพยายามให้เกิดอารมรณ์ที่แบบว่า ที่ใครทีมัน หรือได้เวลาเอาคืนไรงี้ ทำงานให้ Professional มากที่สุดแล้วให้ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจทำหน้าที่ของเค้าต่อไป

อีกคำแนะนำคือ จริงๆแล้วการที่ปรับเป้าหมายของทุกๆฝ่ายให้เป็นเป้าหมายเดียวกัน ก็จะลดความขัดแย้งได้เยอะเลย อย่าวัดผลกันที่ Goal ของตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่วัดผลกันที่ทีมที่ทำเพื่อสิ่งเดียวกัน

    • เรื่องส่วนตัว

อันนี้เป็นเรื่องที่ปกติพยายามจะไม่ยุ่ง เพราะมันมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะเกิด แล้วถ้าเราเข้าไปอยู่ตรงกลางของความขัดแย้ง เราก็จะทำให้มันเป็นปัญหาของเราในที่สุด การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย พรรคพวก … เราควรอยู่ตรงกลางที่สุด ไม่ยุ่ง ไม่ออกความเห็น ทำงานของเราให้ดีก็พอ … ถ้าจะต้องเลือกฝั่งเลือกฝ่ายเมื่อไหร่ คิดแค่ว่าเลือกฝ่ายผิดเมื่อไหร่มีซวย เพราะมันไม่ค่อยมีความถูกต้องหรอก มันมีแค่ความถูกใจล้วนๆ …

สมัยทำงานในห้องเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน (จำได้ว่าเป็นคนที่ 5 มั้งนะ)
  • เงินเดือน
    … เรื่องนี้ค่อนข้างอ่อนไหว… โดยส่วนตัวช่วง 3-5 ปีแรกเคยมีคนแนะนำว่าความรู้สำคัญกว่าเงินเดือน (แต่อย่าให้ถึงกับอดมื้อกินมื้อเลยนะ) … คือมันเป็นช่วงที่เราควรจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มีพลัง มีไฟ ไม่มีภาระ … เมื่อเรามีประสบการณ์ มีความสามารถ มีคุณค่ามากพอ ในสายงานนี้ก็มีบริษัทที่ยอมจ่ายให้กับคนมีความสามารถเช่นเดียวกัน … ยิ่งหลังๆมานี่รู้สึกได้ว่า มีบริษัทที่พร้อมจะจ่ายแพงๆ แต่ดันไม่มีคนที่มีความสามารถพอที่จะรับตำแหน่งนั้นได้ น่าเสียใจจริงๆ … ยิ่งหลังจากนี้ไป Remote Workspace น่าจะยิ่งทยอยมีมากขึ้น การที่ทำตัวให้มีความสามารถอยู่เสมอๆ น่าจะมีทางนำมาซึ่งเงินเดือนพออยู่พอกินได้

แต่ๆๆ … อายุเปลี่ยน ความคิดก็เปลี่ยน ถึงจุดๆนึงเงินก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด จะเห็นได้จากหลายๆคนลาออกไปทำอะไรง่ายๆ เงินไม่มาก แต่มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นแทน … เหมือนสาย IT นี่จะเห็นออกไปทำไร่ทำสวน เกษตรพอเพียงกันเยอะเลย …

  • การช่วยเหลือ … อย่างนึงที่ทำให้เราเก่งขึ้น คือการช่วยเหลือคนอื่นๆ ไม่ว่าในด้านงานทางตรง และทางอ้อม สิ่งที่ได้กลับมามักเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีความผิดพลาดต่างๆ ความไว้ใจเหล่านี้มักจะช่วยเราได้เสมอ … เมื่อช่วยคนอื่นไปเรื่อยๆ ถึงจุดจุดนึง จะพบว่า เราไม่สามารถช่วยทุกคนได้อย่างที่เราอยากจะ เพราะพลังงานและเวลาของเรามีจำกัด บางครั้งเราก็ต้องช่วยโดยกระจายการช่วยเหลือไปให้คนอื่น เราจึงสามารถช่วยในสิ่งที่เราจำเป็นต้องช่วย สุดท้ายจะไปจบลงที่การจัดการเรื่องของความจำเป็นและเร่งด่วน ….
  • การนอน … ในสิบปีที่ผ่านมา (จริงๆน่าจะถึง 20 ปี )จะพบได้ว่า ตัวเองเป็นคนที่นอนเยอะมาก .. ในที่นี้หมายถึงการนอนอย่างเพียงพอ วันละ 7-8 ชม. ซึ่งน่าจะไม่ค่อยเหมือนคนทำงานสายนี้ซักเท่าไหร่นัก ที่ติดนอนดึกตื่นสายกัน

การนอนนี่ช่วยจริงๆนะ ตั้งแต่สมัยเรียนล่ะ อะไรที่ว่ายากๆๆๆ เนี่ย เคยคิดออกตอนนอนมาหลายครั้งแล้ว แบบกึ่งหลับกึ่งตื่นกึ่งฝันแล้วก็คิดวิธีออก เช้ามาเอามาลองทำตามก็พบว่าใช้ได้จริงๆด้วย บางครั้งต้องสลึมสลือขึ้นมาจดไว้แล้วนอนต่อ กันลืม… ตั้งแต่นั้นมาเลยนอนให้พอไว้ก่อนเสมอเลย 😛

  • เวลาในการทำงาน … ส่วนตัวถือว่าเป็นคนโชคดีที่ผ่านมาที่ได้ทำงานในที่ไม่ต้องลงชื่อเข้างาน ไม่ได้วัดผลงานกันที่จำนวนชั่วโมง และก็ไม่ต้องอยู่ทำงานนอกเวลา .. จะมีบ้างที่ต้องทำนอกเวลาปกติแต่ก็รู้ล่วงหน้าซะเป็นส่วนใหญ่ … ด้วยความโชคดีนี้เองเลยพยายามทำงานให้เสร็จในเวลาโดยตลอด ประเมินเวลาที่ต้องใช้ให้ดีๆแล้วทำมันให้ได้ แค่นี้ก็สามารถมีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้นแล้ว

ปีหลังๆมานี้พบว่า การขับรถไปทำงานช่างสิ้นเปลืองเวลาในชีวิตเหลือเกิน ช่วงพีคๆนี่เคยใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชม.ต่อวันไปกลับจากที่ทำงาน … บอกเลยว่าเหนื่อยมาก เคยรถติดถึงขนาดที่ต้องซื้อข้าวจาก Max Value มากินในรถไปพลางด้วย … ถ้าเคยได้คุยกันเรื่องนี้จะรู้ว่าตอนนี้ยังทำใจกินข้าวจาก Max Value ไม่ได้เลย มันย้อนความรู้สึกตอนรถติดๆกลับมาทุกที 555+

อันนี้นั่งชิลเฉยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น 55+
  • Multitasking … หลายๆเวลาสัมภาษณ์เข้าทำงาน หรือแม้กระทั่ง Job qualification บอกถึงการต้องสามารถทำงานหลายๆอย่างไปพร้อมๆกันได้ (multitasking) …

จากประสบการณ์ส่วนตัว พิสูจน์แล้วว่าการทำงานหลายอย่างไปพร้อมๆกัน และพยายามทำมันให้ดีด้วยนั้นใช้เวลามากกว่าทำทีละอย่าง แล้วผลที่ได้ก็ไม่ได้ดีกว่ากันด้วย เพราะงั้นแล้ว การทำงาน multitasking ที่ดี คือการทำงานทีละอย่างให้เสร็จ แต่เป็นการทำทีละอย่างโดยจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง … อย่าให้ตัวเราเป็นคอขวดที่คนอื่นไม่สามารถทำงานของเค้าได้ ถ้าเรายังทำไม่เสร็จ แค่นี้ก็สามารถทำงานได้อย่างดีแล้ว … คีย์เวิร์ดสำคัญก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม คือ การมองให้ออกว่าเรื่องไหนสำคัญ และเร่งด่วน และไม่ได้เป็นคอขวดที่เรา ถ้าเรามองออกตั้งแต่เนิ่นๆ ทำมันก่อนที่มันจะเร่งด่วนแล้ว เราก็จะไม่มีงานด่วนอีกต่อไป นั่งทำงานชิลๆไป …

  • การตรงต่อเวลา … เรื่องนี้ตรงตัวเลย ไม่มีอะไรมาก ไม่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร (คือบางทีบางที่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเรื่องนี้เท่าไหร่) … เราแค่ยึดถือในความตรงต่อเวลาของเรา แค่นี้ก็พอแล้ว มีประชุมก็ไปถึงห้องก่อนซักห้านาที อ่านหัวข้อล่วงหน้าซักหนึ่งวัน โทรศัพท์ดังก็รับให้ทันในสามกริ๊ง ลางานล่วงหน้าซัก 1-2 อาทิตย์ ส่งประชุมล่วงหน้าซัก 2 วัน ไปถึงที่ทำงานก่อนเริ่มงานซัก 30 นาที เลิกเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนซักครึ่งชม. ลาอะไรฉุกเฉินก็ส่งต่องานให้คนอื่นช่วย ผมรวมสิ่งพวกนี้รวมอยู่ในการตรงต่อเวลาทั้งหมด (ทั้งกับตัวเองและกับคนรอบข้าง) .. จริงๆน่าจะเรียกว่า Organized มากกว่า

  • การยอมรับผิด …จริงๆ เรื่องนี้ง่ายมาก เมื่อไหร่ที่ทำอะไรผิดพลาด ยอมรับซะ .. แล้วหาทางแก้ไขกัน สุดท้ายมันคือการซื่อสัตย์ ทั้งกับตัวเองและกับคนอื่น … มันไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรอก แต่เมื่อผิดพลาดแล้วพยายามไม่ยอมรับ มันจะทำให้เรื่องยากขึ้นไปเยอะมาก … ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าอยู่ในสังคมที่ดี ไม่ได้มีการพยายามตำหนิ (blame) คนทำผิด ทุกคนพยายามแก้ให้มากกว่า ซึ่งทำให้การยอมรับผิดทำได้โดยง่าย … ส่วนถ้าคนอื่นทำผิดพลาด เราก็ต้องพร้อมจะให้อภัยเช่นเดียวกัน … เมื่อไหร่ที่ผิดพลาดซ้ำๆเรื่องเดิมๆ ถึงจะเรียกว่ามีความไม่ปกติ … ก็ค่อยๆหาทางแก้กันไป
  • การสื่อสาร … เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยเอามาไว้ท้ายสุด การสื่อสารที่(ส่วนตัวคิดว่า)ดี คือการรู้ว่าผู้ฟังต้องการรับสารเมื่อไหร่ และต้องการรับมากแค่ไหน …

พูดอีกอย่างก็คือดูว่าเรากำลังพูดอยู่กับใคร ความรู้ระดับไหน และต้องการอะไรจากเรา … ถ้าเรากำลังพูดอยู่กับคนผู้รู้ Technical เป็นอย่างดี เราก็ใส่เลย คุยกันให้ลึกถึงแก่น ในขณะเดียวกัน ถ้าเราคุยกับผู้บริหารที่ต้องการข้อมูลเพื่อตัดสินใจ เราก็ไม่ไปขุดรากเง้าขึ้นมาคุยยาวๆ เราอาจจะหาตัวเลือกและผลกระทบให้แทน หรือถ้าเราจะปรึกษาอะไรใคร เราก็ต้องดูว่าเราทำการบ้านอะไรได้บ้าง มีกี่วิธีที่ทำได้ อะไรที่เรารู้และอะไรที่เราไม่รู้ เป็นต้น …

หลายๆครั้งการสื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับการโน้มน้าว เราก็ต้องมีข้อมูลที่ดี ให้เหตุผลที่เราแนะนำข้อนั้นไป ถ้าเหตุผลเราดีพอ ก็น่าจะโน้มน้าวได้ไม่ยาก ในขณะเดียวกัน ถ้าเหตุผลของคนอื่นดีกว่า เราก็จะได้เรียนรู้ว่ากระบวนการคิดของเรานั้นยังพัฒนาได้อีก

 

สิบข้อพอดี กับสิบปีที่ผ่านมา…. จริงๆด้านบนนี้ไม่มีผิดมีถูก … แค่คิดว่าอะไรบ้างที่ตัวเองให้ความสำคัญแล้วก็ยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา ใครมีความเห็นอะไรยังไง แลกเปลี่ยนไอเดียกันได้ 🙂

ปล. บล็อกตอนนี้น่าจะเป็นตอนที่ยาวที่สุดที่เคยเขียนเลยมั้ง … และเป็นการเขียนสิ่งที่ Sensitive ที่สุดด้วย ฮา …

ปล2. อีก 10 ปีจะมาดูกันว่าจะสิ่งที่เขียนข้างต้นจะยังพาเราไปตลอดรอดฝั่งมั๊ย

ปล3. ใช้คำว่า “จริงๆ” ไปเยอะมาก .. ถ้ารวมอันเมื่อกี้ด้วยก็ 11 ครั้งพอดี

 

Scroll to top